Worapon welcome you to his webblog

ยินดีต้อนรับ สู่เวบบล็อค ของผม วรพล กาญจน์วีระโยธิน
จากประสบการณ์ การเล่นและการสอนฟลู้ตมา ยี่สิบกว่าปี
ผมตั้งใจให้เวบนี้ เป็นที่ทำความรู้จักกันกับแขกที่เข้ามาเยี่ยม
เป็นที่แลกปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการเล่นฟลู้ตอีกที่หนึ่ง โดยจะพยายามเขียนบทความเกี่ยวกับการเล่นฟลู้ต จากการศึกษา และประสบการณ์ ของตัวเอง
รวมทั้งแจ้งข่าวสาร เกี่ยวกับคอนเสิร์ตที่จะเล่น รวมถึง ลิ้งค์ วีดิโอ ที่น่าสนใจ มานำเสนอด้วย

มีอะไรที่สงสัย เกี่ยวกับการเล่นฟลู้ต หรืออาจจะเกี่ยวกับเรื่องดนตรีทั่วไป ก็ ฝากข้อความคำถาม ได้ที่ wworapon@gmail.com ครับ


*สำหรับนักศึกษาวิชาดนตรีวิจักษ์*
*รายงานของนักศึกษาวังท่าพระให้ส่งวันสอบเลยนะครับที่เจ้าหน้าที่*

Wednesday, August 27, 2008

My flute sound with BSO in Japan concert 2002

Track 6 Firebird - Bangkok Symphony Orchestra

เสียงเพลงที่ฟังนี้ เป็นการอัดเสียงด้วยเครื่อง MD ซึ่งสมัยนั้นเดิ้นสุด เสียงดิจิตอลยุคแรกที่คนธรรมดาอัดกันเองได้ วางอัดตอนซ้อมใน Tokyo Opera CIty Hall เราเล่น Firebird Suite v.1947 ซึ่งใช้วงค่อนข้างเล็ก ฟลู้ตสองคน Hall นี้เสียงก้องกังวาลมาก จนเราไม่สามารถเล่นเสียงหยาบได้ เพราะมันจะชัดมาก ตอนที่ฟังเสียงครั้งแรกยังงงเลยว่าเสียงวง BSO หรือนี่ ไม่เคยได้ยินอะไรแบบนี้ อันนี้ยืนยันคำพูดที่ว่า ห้องที่แสดงดนตรีนับเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดอีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้เสียงดนตรีนั้นเพราะหรือไม่

คอนเสิร์ตนี้นับเป็นครั้งแรกที่วงเราออกไปแสดงถึงญี่ปุ่น ในโตเกียวซึ่งมีวงอาชีพอยู่ร่วมสิบวง ไม่นับวงรับเชิญอีกปีละเป็นร้อยๆวง ตอนแรกก็สงสัยว่าใครจะมาดูคอนเสิร์ตวงจากโลกที่สามอย่างพวกเรา แต่ผู้ชมที่สนใจก็มาชมกันเกือบเต็มที่นั่ง สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดของคอนเสิร์ตนี้ก็คือ สมเด็จพระพี่นางฯ เสด็จมาทอดพระเนตรการแสดงของวงเราถึงญี่ปุ่น พร้อมคณะผู้ติดตาม ทรงประทับอยู่ ชั้นสองตรงกลาง คล้ายกับที่ประทับในเมืองไทยของราชวงศ์ โดยปกติธรรมเนียม นักดนตรีวงเดินออกมาบนเวทีก็นั่งลงวอร์มกันเลย แต่พวกเรา เนื่องด้วยพระองค์ทรงประทับอยู่ พวกเราก็ทยอยเดินออกมาและยืนรอจนครบวง แล้วก็ถวายคำนับพร้อมกันทั้งวง ปรากฎว่าผู้ชมในHall ปรบมือเสียงกึกก้องเลย ขนลุกเลย นึกถึงภาพนั้นคงเป็นภาพที่สวยงาม พวกเราก็เล่นกันสุดใจ ตามประสาคนไทย เวลาซ้อมโอเค แต่เวลาแสดง เต็มที่สองร้อยเปอร์เซ็นต์

เพลงแรกที่บรรเลงก็เป็นเพลง Sinfonia Chakree ของ อ.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร อาจารย์เขียนเพลงได้สวยงามและยิ่งใหญ่อลังการ ผสมเสียงเพลงไทยและสมัยใหม่เข้าไป แถมช่วงท้ายอาจารย์เอาทำนองเพลงคล้ายๆส่วนหนึ่งของเพลงพระราชนิพนธ์ปลุกใจ บทหนึ่ง ฟังแล้วมันขนลุก (อีกแล้ว) ถ้ายังไงผมจะตัดต่อช่วงนั้นมาให้ฟังในโอกาสต่อไป ทั้งเพลงมันยาว 13 นาที คงลงทั้งเพลงไม่ไหว

เพลงที่สองเป็น Piano Concerto ของ Ravel ขึ้นต้นมาก็เป็น piccolo solo ซึ่งผมรับหน้าที่ เพลงนี้ เพื่อนๆ woodwind ทุกคน ทั้ง 1st และ 2nd มี part solo หมดเลย และก็เป็นโซโลที่ยากและเด่นชัดแบบทุกคนรอฟัง เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะตื่นเต้นกับมันมาก เรามาคุยกันด้วยความสนุกสนานตอนหลังจากคอนเสิร์ตว่าระหว่างเพลงนั้น ต่างคนต่างลุ้นไม่เฉพาะ part ของตัวเอง แต่คอยฟังคนอื่นและช่วยลุ้น เวลาถึงท่อนโซโลของแต่ละคน ว่าเล่นผ่านมั้ย ตลอดเพลง

เพลงสุดท้ายซึ่งอยู่ครึ่งหลังก็คือเพลง Firebird Suite Version 1947 ของ Stravinsky พวกเราเคยเล่นเพลงนี้มาก่อนใน Version 1919 ซึ่งสั้นกว่าและเป็นวงใหญ่กว่า part flute มีสามคน แต่ชุดนี้ใช้แค่สองคน ทำให้เราต้องรับโน้ตมาแบ่งกันเล่นเยอะขึ้น ท่อนหนึ่งที่ยากที่สุดคือ ท่อนที่สอง (Track 2) มีโน้ต6พยางค์ กระโดดขึ้นลง ทั้ง slur และ staccato และก็ต้องเล่นให้ไหลต่อกัน โน้ตของ Stravinsky ก็ไม่ใช่โน้ตในสเกลที่เราคุ้น แต่ละวรรคไม่มีทาง sight read ต้องนั่งแกะกันไปทีละวรรคเลย ทั้ง่อนยาวแค่สองนาที แต่ซ้อมกันแทบแย่Track 2 Firebird - Bangkok Symphony OrchestraTrack ที่ 6 น่าจะเป็นท่อนที่เพราะที่สุด เริ่มด้วยเสียงฟลู้ตโน้ต F# 3 ซึ่งเริ่มต้นแบบห้ามดัง ตอนเล่นก็มีลุ้นว่าจะมาตามนัดมั้ย แต่ก็ผ่านไปด้วยดี จุดเด่นคือเสียงโอโบ โดย อ.ดำริห์ ในท่อนนี้ บอกได้คำเดียวว่า world class (ในความคิดของผม)

ยังไงก็ลองอดทนรอโหลดฟังกันดูนะครับ เสียงคงไม่เลิศเลอเหมือนแผ่นจริง แต่อัดแน่นด้วยวิญญาน :-)



Track 9 Firebird Finale - Bangkok Symphony Orchestra

Tuesday, August 19, 2008

ฟลู้ตที่ผมใช้ (ตอนที่ 1)

ว่าด้วยเรื่องฟลู้ตที่ผมใช้

เผอิญว่าในช่วงที่ผ่านมาได้อ่านคำถามของนักเรียนเรื่องการเลือกซื้อฟลู้ตใหม่ และก็มีคำตอบจากเวบ ของ อ. ชัชวาล อรรถกิจโกศล ที่ www.chat-flute.com เลยเกิดความคิดว่าน่าจะเอาความคิดเห็นและประสบการณ์ตรงของผมมาแลกเปลี่ยนกันบ้าง เพียงแต่ยังไม่เกี่ยวกับการเลือกซื้อฟลู้ตจริงๆ แต่เป็นประสบการณ์ของผมกับฟลู้ตตัวที่เคยใช้กันมา

ในช่วงยี่สิบปีกว่าที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยผมเป็นนักเรียน ฟลู้ตในท้องตลาดบ้านเรา มีให้เลือกน้อยมาก ยี่ห้อระดับล่างนั้นก็เป็นของจากจีน ซึ่งทางโรงเรียนนิยมซื้อใช้ เพราะราคาถูก แต่ผลของราคาถูกก็คือ นวมที่รั่ว ปิดไม่สนิท ทำให้พวกเรายากจะเป่าออกมาเป็นเสียงที่ดีได้ ยี่ห้อที่ดูดีมีระดับขึ้นมาก็ มีพวก Artley, Armstrong, และ Gemeinhardt ซึ่งเป็นฟลู้ตนักเรียนของอเมริกา แต่ที่หรูที่สุดก็เป็น ของยามาฮ่ารุ่น 100 (ที่ปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้ว) นี่แหละ เพราะการประกอบที่ค่อนข้างมาตรฐานกว่าใครเพื่อน ทำให้เป่าออกเสียงง่าย โดยเฉพาะโน้ตตัวต่ำ

ระหว่างช่วงที่เรียนจุฬาฯ จนจบมาใหม่ๆ ผมก็มีปัญญาพอแค่ซื้อฟลู้ต Armstrong ตัวละแถวๆหมื่นบาทเล่น ฟลู้ตตัวแรกไม่ได้มีคนเลือกให้ แต่ก็พอใช้ได้ ไม่มีปัญหา เหมาะกับความรู้ของตัวเองในยุคนั้น ถ้าใครอยากฟังเสียงของมันก็ลองหาแผ่น วงไหมไทยยุคแรก ชุดที่ 2 ทุ่งแสงทองและ ชุดที่ 3 ใต้แสงเทียน เสียงฟลู้ตผมตอนนั้นใกล้ขลุ่ยไม้เลย แต่ความที่ได้อยู่ในวงไหมไทยเลยทำให้ได้เล่นคอนเสิร์ตหลายครั้ง เพลงอีกชุดหนึ่งที่ชอบมากคือชุดที่เป็นเพลงบทกวี บทเพลงที่ผมประทับใจมากจากการอัดเสียงในชุดนั้นชื่อว่า อย่าทำน้ำไหว ซึง อ.ดนู ฮันตระกูลแต่งให้กับฟลู้ตโซโล ไปพร้อมกับการอ่านบทกวีโดย อ.เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ด้วย ลีลาของเพลงและบทกวีช่างเข้ากันเหลือเกิน เสียดายว่าหาซื้อเป็นซีดีไม่ได้แล้ว ผมเคยพยายามหาก็มีแต่ชุดรวมแค่เพียงชุดเดียว

ฟลู้ตตัวต่อมานั้นได้มาก่อนไปศึกษาต่อที่เยอรมันในปี 1990 ซึ่งก็ได้ครูฟลู้ตในตอนนั้นชื่อ Dr.Ney ซึ่งเป็นทูตวัฒนธรรมของประเทศเยอรมันในไทย ฝากเพื่อนนักฟลู้ตมืออาชีพในเยอรมันซื้อให้ แต่ผลที่ออก บวกกับงบแถวๆ หกหมื่น ก็ได้ออกมาเป็น Yamaha-571 (ก่อนหน้านั้น ผมได้มีโอกาสเรียนกับนักฟลู้ตชาวอเมริกัน และเห็นว่าฟลู้ต Haynes ของท่านตัวละห้าหมื่น ผมก็ถอดใจแล้วว่าชาตินี้คงไม่มีปัญญามีฟลู้ตแพงอย่างนั้น เด็กๆสมัยนี้อ่านแล้วคงขำ เพราะพี่มีฟลู้ตตัวเป็นแสน สองแสนตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว) ฟลู้ตตัวที่สองนี้ก็ได้เงินเปียแชร์ของแม่มาให้ เพราะถึงแม้จะทำงานแล้วแต่ก็ไม่มีเงินก้อนแบบนั้นมาซื้อ

Yamaha 571 ตัวนั้น เป็นแบบตัวเงิน keyเป็น นิเกิล Pointed Arm (ปัจจุบันสเป็คนี้น่าจะเป็นของรุ่น 6 ) ก็ได้นำไปเรียนด้วยกันที่เยอรมัน และก็พบว่า นักเรียนฟลู้ตที่นั่น ใช้ฟลู้ตรุ่นแพงกว่าและดีกว่าผมทุกคน มีสาวญี่ปุ่นพาฟลู้ต Sankyo ทองมาสอบแข่งพร้อมกัน และก็หนุ่มเยอรมันคนหนึ่งก็เอาฟลู้ต Sankyo เงิน ใส่ Headjoint handmade ยี่ห้อไม่รู้จักเลยมาสอบ ทำให้เพิ่งรู้จักฟลู้ต Sankyo คราวแรก ตอนนั้น มีความรู้สึกว่าเราหลังเขามากเลย ไอ้ยี่ห้อ Sankyo เค้าใช้กันทั่วยุโรป เรากลับไม่เคยได้ยินชื่อมันเลย เคยได้ยินแต่ Muramatsu และก็มารู้อีกทีหลังว่า คนทำ Sankyo ก็คืออดีตช่างของ Muramatsu ที่แยกตัวออกมานั่นเอง

กลับมาจากเยอรมัน เจ้า Yamaha-571 ก็ได้รับใช้ผมจนถึงปี 1996 ระหว่างนั้นผมก็ได้ใช้มันแสดงกับ BSO มาตลอด ทั้งเล่นคอนเสิร์ตและอัดเสียงชุด เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงชาติ วาระที่สำคัญที่สุดก็น่าจะเป็นตอนที่ได้รับเลือกให้แสดง Flute Concerto in D ของ Mozart กับวง ECCO ( European Community Chamber Orchestra) ตอนนั้นยังไม่รวมเป็น EU เมื่อเดือนธันวาคมปี 1994 ผมซ้อมเพลงนั้นอยู่ 3 เดือนก่อนคอนเสิร์ต และพอวันแสดง เค้าก็อนุญาตให้ผมซ้อมกับวงแค่ครั้งเดียวคือ 5 โมงเย็นวันนั้น ก่อนจะแสดงตอนสองทุ่ม ก็นับเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นประทับใจ วงนี้ไม่มีคอนดักเตอร์ ให้คอนเสิร์ตมาสเตอร์เป็นคนเล่นและนำไปด้วย ผมก็ด้วยความที่ซ้อมมาจนขึ้นใจ ตัดสินใจเล่นโดยไม่มีโน้ต ก็ปรากฎว่ามีการหลุดความจำด้วยความตื่นเต้นเล็กน้อย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี ท่านสามารถไปดู ภาพบทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ The Nation ได้ ที่นี่ ครับ

มาถึงตอนนี้ก็ขอจบตอนแรกไว้ก่อน เอาไว้ค่อยมาต่อตอนฟลู้ต ตัวต่อไป ถ้าอ่านแล้ว อย่าอ่านเฉยๆ ช่วยแสดงความคิดเห็นหน่อย จะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นนะครับ

Monday, August 18, 2008

My Coming Concerts Schedule

ดูทั้งตารางถึงสิ้นปีได้ ที่ wworapon.multiply.com ครับ

Aug. 26th, at Thailand Cultural Center
with Bangkok Symphony Orchestra
Conducted by Nora-at Chunklam
Programme: Thai Classics

Aug. 29th, at Kad Theatre, Chiangmai
Aug. 30th, at Gateway Hotel, Payao
Solo with BSO Strings
Tribute to The Great King Concert
Conducted by M.L. Usni Pramoj
Programme:
King Bhumiphol The Great's 16 compositions

September 6th, at Thailand Cultural Center
NORDIC MASTERS
with Bangkok Symphony Orchestra
Conducted by Okku Kamu
Piano Soloist: Patrick Jabronski
Programme:
Sibelius: Finlandia
Grieg: Piano Concert
Sibelius: Symphony no. 1

Sunday, August 10, 2008

Saturday, August 9, 2008

ประวัติทางด้านดนตรีแบบย่อๆของผม

วรพล กาญจน์วีระโยธิน เริ่มเล่นฟลู้ตกับ อ.เดชา แสงทอง ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จากนั้นก็ศึกษาต่อที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สาขาดุริยางค์สากล เอกเครื่องดนตรีฟลู้ต จนจบได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และได้รับทุนอานันทมหิดล โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ไปศึกษาการเล่นฟลู้ทที่เยอรมันเป็นเวลา 2 ปี

วรพลเคยได้รับเชิญเป็นผู้แสดงเดี่ยว Flute Concerto in D Major ของ Mozart กับวง the European Community Chamber Orchestra ในปี 1994
กับวง The Ensemble Contemporary Alpha from Tokyo National University of Fine Arts and Music ในปี 1995
แสดงเดี่ยวฟลู้ทร่วมกับ BSO String Orchestra เสนอผลงานบทเพลงพระราชนิพนธ์ในการทัวร์ในแถบประเทศอาเซียนในปี 2006 ที่ ฮานอย โฮจิมิน จาการ์ต้า สิงคโปร์ มะนิลา และญี่ปุ่นที่เมือง โตเกียวและโอซาก้าในปี 2007

ปี 2007 ได้รับเลือกให้เป็นผู้แสดงเดี่ยวคู่กับนักดนตรีจากญี่ปุ่นในบทเพลง Double Concerto ของ Salieri กับวง Asean Japan Festival Orchestra .ในงานฉลองความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 120 ปี

นอกจากนั้นวรพลยังได้ร่วมเล่นคอนเสิร์ตเชมเบอร์มิวสิกเป็นประจำ กับ วง BSO Woodwind Quintet และ Silpakorn Ensemble แสดงคอนเสิร์ตทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด
วรพลมีประสบการณ์การร่วมเล่นดนตรีกับวงต่างๆทั้งในและต่างประเทศเช่น World Philharmonic Orchestra, Tokyo City Philharmonic, Malaysian National Orchestra, Pan Asia Orchestra วงไหมไทย เชมเบอร์ออร์เคสตร้า และวงดุริยางค์กรมศิลปากร

ปัจจุบัน เป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารสาขาการแสดงดนตรีคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นหัวหน้ากลุ่มฟลู้ทประจำวง Bangkok Symphony Orchestra

Tuesday, August 5, 2008