Worapon welcome you to his webblog

ยินดีต้อนรับ สู่เวบบล็อค ของผม วรพล กาญจน์วีระโยธิน
จากประสบการณ์ การเล่นและการสอนฟลู้ตมา ยี่สิบกว่าปี
ผมตั้งใจให้เวบนี้ เป็นที่ทำความรู้จักกันกับแขกที่เข้ามาเยี่ยม
เป็นที่แลกปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการเล่นฟลู้ตอีกที่หนึ่ง โดยจะพยายามเขียนบทความเกี่ยวกับการเล่นฟลู้ต จากการศึกษา และประสบการณ์ ของตัวเอง
รวมทั้งแจ้งข่าวสาร เกี่ยวกับคอนเสิร์ตที่จะเล่น รวมถึง ลิ้งค์ วีดิโอ ที่น่าสนใจ มานำเสนอด้วย

มีอะไรที่สงสัย เกี่ยวกับการเล่นฟลู้ต หรืออาจจะเกี่ยวกับเรื่องดนตรีทั่วไป ก็ ฝากข้อความคำถาม ได้ที่ wworapon@gmail.com ครับ


*สำหรับนักศึกษาวิชาดนตรีวิจักษ์*
*รายงานของนักศึกษาวังท่าพระให้ส่งวันสอบเลยนะครับที่เจ้าหน้าที่*

Sunday, December 28, 2008

ฟลุ้ตที่ผมใช้ (ตอนที่ 2)

ในที่สุดก็ได้ฤกษ์เขียนเรื่องฟลู้ตที่ผมใช้ ตอนที่ 2

ตอนนี้เรามาถึงปลายปี 1995 เดือนธันวาคม ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพจัดงาน Asia Composer League ครั้งที่ 17  ใครที่เคยไปชมก็คงทราบว่าเป็นงานรวมผลงานเพลงใหม่ๆของ composer ชาวเอเซียมาแสดง โดยมีนักดนตรีจากชาติต่างๆในเอเชียมาร่วมแสดง  ผลงานส่วนใหญ่ก็เป็นแบบ เชมเบอร์ มิวสิก  ครั้งนั้นผมได้รับการทาบทามจากอ.วีรชาติ เปรมานนท์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ไปร่วมเล่นกับวง จากญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัย Tokyo Fine Arts University หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า โตเกียว เกได เค้ามากันเป็นทีมมีนักดนตรี 5-6 คน รวมกับอาจารย์ท่านหนึ่ง เราก็ซ้อมๆกันอยู่ 2-3 ครั้ง และก็ออกแสดงเป็นหนึ่งในโปรแกรมของทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นผมยังคงใช้เจ้า Yamaha 571 อยู่ การเล่นดนตรีครั้งนั้นก็ได้ทำให้ได้รู้จักเพื่อนนักดนตรีต่างชาติ และก็เป็นครั้งแรกๆที่ได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับคนญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบการทำงานเป็นทีมที่ดีมาก  ในคอนเสิร์ตของวงเรานั้นมีหลายเพลงและแต่ละเพลงก็มีเครื่องดนตรีต่างชนิดกัน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นว่า ข้างเวที เค้าจะ แผนผังเก้าอี้ของแต่ละเพลงติดไว้เลย เพื่อให้คนจัดเก้าอี้ไม่สับสน และการเปลี่ยนเพลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตอนหลังๆที่ได้ไปเล่นคอนเสิร์ตในญี่ปุ่น ก็จะเห็นภาพ ผังขั้นตอนงานติดข้างทางออกเวทีทุกที่เลย และบรรดา ผู้กำกับคิวเวที ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนๆนักดนตรีทั้งนั้น เพียงแต่ไม่ได้เล่นในคอนเสิร์ตนั้น มาทำหน้าที่ ผู้กำกับเวทีแทน

 

หลังจากนั้น ดูเหมือนดวงจะสมพงษ์กับคนญี่ปุ่นมากขึ้น เพราะชะตาฟ้าลิขิตให้มาพบกับคุณ Koichi Iibuchi (โคอิชิ อีบุชิ) นักฟลู้ตจากญี่ปุ่น มาเที่ยวเมืองไทยแล้วมารู้จักกับเพื่อนนักดนตรีไทย จนได้มาดูการซ้อมของวง BSO เราได้คุยกันอย่างสนิทสนมตั้งแต่วันแรก แล้วเขาก็บอกผมเลยว่า ถ้ามาญี่ปุ่นก็มาพักที่บ้านของเค้าได้เลย  และในที่สุด สามเดือนหลังจากนั้นผมก็ได้มีโอกาสไปญี่ป่นครั้งแรก โดยการสนับสนุนตั๋วเครื่องบินจากลูกศิษย์ชาวฝรั่งเศส บวกกับที่พักฟรีบ้านคุณโคอิชิซึ่งต่อไปนี้ผมจะขอเรียกสั้นๆว่าคุณลุงละกัน   คุณลุงพาผมไปชมร้านขายและซ่อมเครื่องเป่าที่เป็นที่รู้จักในแวดวงนักดนตรีชื่อร้าน DAC และก็ได้ตื่นตาตื่นใจกับ ฟลู้ตต่างๆที่เค้าเอามาให้ลอง ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจและตั้งตัวว่าจะซื้อฟลู้ตกลับมา เพราะเงินก็ไม่มี  ผมนั้นมีใจกับฟลู้ต Muramatsu กับ Sankyo เพราะเคยได้ยินชื่อ และเห็นคนใช้มาก่อนจำนวนมาก วันนั้นฟลู้ตที่ผมได้ลองแล้วถูกใจที่สุดคือ ฟลู้ต Sankyo รุ่น Handmade SR model ซึงเป็นรุ่นสูงสุด Soldered tone hole ก็คือ บนรูที่คีย์ต่างๆนั้น แทนที่จะใช้วิธีการดึงท่อขึ้นมาเป็นผนังขอบรู ( Drawn Tonehole) ก็ใช้วิธีเชื่อมต่อวงแหวนลงบนรูแทน ซึ่งรุ่นที่เป็น full handmade จะเป็นแบบ SR ทุกยี่ห้อ พอลองได้ตัวแล้ว ทางร้านก็เอา head joint ชนิดต่างๆมาให้เลือกอีก แต่ละชนิดก็ให้คุณลักษณะเสียงที่ต่างกัน ผมมาถูกใจเอาตัว RS4 ซึ่งให้เสียงเท่าๆกันทุก Octave ตอนนั้นนักฟลู้ตจากวง Tokyo Symphony Orchestra ซึ่งแวะมาด้วยก็ช่วยลองและชอบอันเดียวกัน และในที่สุด ด้วยบัตรเครดิตของคุณลุง ทำให้ผมได้ถอย Sankyo Handmade มาโดยไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน กลับบ้านค่อยหาทางขึ้นแชร์ใช้หนี้ตามระเบียบ

 

กลับมาจากญี่ปุ่นได้เดือนหนึ่งก็ได้มีโอกาสร่วมเล่นงาน World Philharmonic ซึ่งเป็นวงรวมนักดนตรีจากวงอาชีพทั่วโลกมารวมกัน มีนักดนตรีจากวงดังๆมาร่วมกว่าร้อยคน  ปีนั้นเผอิญเมืองไทยได้เป็นเจ้าภาพ เพราะเป็นปีที่ในหลวงทรงครองราชย์ครบ 50 ปี คอนดักเตอร์คือคุณ Myung Wung Chung ชาวเกาหลีผู้โด่งดัง เพลงหลักคือ ซิมโฟนีหมายเลข  1 ของ  Mahler ผมได้เล่น ฟลู้ต 2 โดยมี Principal flute จากวง Ulster Symphony ของ ไอร์แลนด์ ชื่อ คุณ Colin Fleming ซึ่งเคยเป็นนักเรียนของ James Galways ที่ เบอร์ลิน สมัยที่เล่นอยู่กับวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิก  ส่วนฟลู้ตสามอีกคนหนึ่งนั้นคือ คุณ Wendy Clarke เป็น Principal ของวง เมลเบิร์น ซิมโฟนี และเป็นคนอัดเสียงฟลู้ตในหนังเรื่อง Babe ที่มีหมูพูดได้ ที่เค้าเล่นฟลู้ตสามไม่ใช่เพราะผมเก่งกว่าหรอก แต่เพราะตอนขึ้นเพลง มันมีเสียง piccolo ลากเสียง ยาว และเบา ซึ่งผมเองนั้นไม่มีเครื่องและ เค้าคงเล่นได้ดีกว่าผมตรงนั้นแน่นอน ในงานนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีการเล่นของมืออาชีพจริงๆที่เค้าเล่นคอนเสิร์ตวงกันแทบทุกวัน มีหลายตอนที่เค้าแนะนำให้ผมใช้นิ้วพิเศษ เพื่อควบคุมเสียงเวลาเล่นเบาและยาวได้ดีกว่า หลายครั้งก็ต้องเล่นคู่ไปกับฟลุ้ตหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้ผมได้รับประสบการณ์ที่ดีมาก

ที่น่าประทับใจที่สุดก็เรื่องเครื่องนี่แหละ นักฟลุ้ตทั้งสองคนใช้ Brannen-Cooper คุณเวนดี้ใช้ตัวเงิน ส่วนคุณคอลลินใช้ตัวทอง นอกจากนั้นคุณคอลลินยังพกฟลุ้ตมาสำรองอีกตัว ซึ่งเป็นฟลุ้ตทองของ Muramatsu มีแกะสลักลายที่นิ้วทุกนิ้ว แถวที่ Eb key นิ้วมือขวามีฝังเพชรเม็ดเล็กๆ ราคาของมันประมาณ 1 ล้านบาท!!!  ที่สำคัญที่สุดคือฟลุ้ตตัวนี้เป็นของท่าน James Galway ให้คุณคอลลินยืมเอาไว้เล่นๆ คาดว่าลุงเจมส์คงมีแบบนี้ไม่ต่ำกว่าสองตัว  คุณคอลลินเห็นผมใช้ตัว Sankyo ซึ่งเพิ่งซื้อมาใหม่ แล้วบอกว่า ไหนๆก็ยังไม่คุ้นเครื่อง เอา Muramatsu ตัวนี้ไปเล่นก็แล้วกัน แล้วผมก็เลยได้เล่นเจ้า Muramatsu ทองของลุงเจมส์ ในคอนเสิร์ต World Philharmonic ไปด้วยความสุขสมอารมณ์หมาย นับเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ( โปรดติดตามตอนต่อไป)

link ที่น่าสนใจ

Melbourne Symphony Orchestra

Colin Fleming

Brannen-Cooper Flute



Saturday, December 27, 2008

Brandenburg Concerto No.2 Liveที่วังพญาไท

วีดิโอ Brandenburg Concerto No.2 ที่วังพญาไท  เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2551

GALYANI VADHANA INSTITUTE ORCHESTRA
Leo Phillips, Conductor

December 21st, 2008 - 7pm.
Thewarat Sapharom Hall, Phya Thai Palace

Johann Sebastian BACH: Brandenburg Concerto No. 2 in F - BWV 1047
Soloists: Tasana Nagavajara - Violin, Worapon Kanweerayothin - Flute, Damrih Banwitayakit - Oboe, Lertkiat Chongjirajitra - Trumpet, Trisdee Na Patalung - Harpsichord

Movt. I


Movt. II


Movt. III