Worapon welcome you to his webblog

ยินดีต้อนรับ สู่เวบบล็อค ของผม วรพล กาญจน์วีระโยธิน
จากประสบการณ์ การเล่นและการสอนฟลู้ตมา ยี่สิบกว่าปี
ผมตั้งใจให้เวบนี้ เป็นที่ทำความรู้จักกันกับแขกที่เข้ามาเยี่ยม
เป็นที่แลกปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการเล่นฟลู้ตอีกที่หนึ่ง โดยจะพยายามเขียนบทความเกี่ยวกับการเล่นฟลู้ต จากการศึกษา และประสบการณ์ ของตัวเอง
รวมทั้งแจ้งข่าวสาร เกี่ยวกับคอนเสิร์ตที่จะเล่น รวมถึง ลิ้งค์ วีดิโอ ที่น่าสนใจ มานำเสนอด้วย

มีอะไรที่สงสัย เกี่ยวกับการเล่นฟลู้ต หรืออาจจะเกี่ยวกับเรื่องดนตรีทั่วไป ก็ ฝากข้อความคำถาม ได้ที่ wworapon@gmail.com ครับ


*สำหรับนักศึกษาวิชาดนตรีวิจักษ์*
*รายงานของนักศึกษาวังท่าพระให้ส่งวันสอบเลยนะครับที่เจ้าหน้าที่*

Sunday, December 28, 2008

ฟลุ้ตที่ผมใช้ (ตอนที่ 2)

ในที่สุดก็ได้ฤกษ์เขียนเรื่องฟลู้ตที่ผมใช้ ตอนที่ 2

ตอนนี้เรามาถึงปลายปี 1995 เดือนธันวาคม ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพจัดงาน Asia Composer League ครั้งที่ 17  ใครที่เคยไปชมก็คงทราบว่าเป็นงานรวมผลงานเพลงใหม่ๆของ composer ชาวเอเซียมาแสดง โดยมีนักดนตรีจากชาติต่างๆในเอเชียมาร่วมแสดง  ผลงานส่วนใหญ่ก็เป็นแบบ เชมเบอร์ มิวสิก  ครั้งนั้นผมได้รับการทาบทามจากอ.วีรชาติ เปรมานนท์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้ไปร่วมเล่นกับวง จากญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัย Tokyo Fine Arts University หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า โตเกียว เกได เค้ามากันเป็นทีมมีนักดนตรี 5-6 คน รวมกับอาจารย์ท่านหนึ่ง เราก็ซ้อมๆกันอยู่ 2-3 ครั้ง และก็ออกแสดงเป็นหนึ่งในโปรแกรมของทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นผมยังคงใช้เจ้า Yamaha 571 อยู่ การเล่นดนตรีครั้งนั้นก็ได้ทำให้ได้รู้จักเพื่อนนักดนตรีต่างชาติ และก็เป็นครั้งแรกๆที่ได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับคนญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบการทำงานเป็นทีมที่ดีมาก  ในคอนเสิร์ตของวงเรานั้นมีหลายเพลงและแต่ละเพลงก็มีเครื่องดนตรีต่างชนิดกัน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นว่า ข้างเวที เค้าจะ แผนผังเก้าอี้ของแต่ละเพลงติดไว้เลย เพื่อให้คนจัดเก้าอี้ไม่สับสน และการเปลี่ยนเพลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตอนหลังๆที่ได้ไปเล่นคอนเสิร์ตในญี่ปุ่น ก็จะเห็นภาพ ผังขั้นตอนงานติดข้างทางออกเวทีทุกที่เลย และบรรดา ผู้กำกับคิวเวที ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนๆนักดนตรีทั้งนั้น เพียงแต่ไม่ได้เล่นในคอนเสิร์ตนั้น มาทำหน้าที่ ผู้กำกับเวทีแทน

 

หลังจากนั้น ดูเหมือนดวงจะสมพงษ์กับคนญี่ปุ่นมากขึ้น เพราะชะตาฟ้าลิขิตให้มาพบกับคุณ Koichi Iibuchi (โคอิชิ อีบุชิ) นักฟลู้ตจากญี่ปุ่น มาเที่ยวเมืองไทยแล้วมารู้จักกับเพื่อนนักดนตรีไทย จนได้มาดูการซ้อมของวง BSO เราได้คุยกันอย่างสนิทสนมตั้งแต่วันแรก แล้วเขาก็บอกผมเลยว่า ถ้ามาญี่ปุ่นก็มาพักที่บ้านของเค้าได้เลย  และในที่สุด สามเดือนหลังจากนั้นผมก็ได้มีโอกาสไปญี่ป่นครั้งแรก โดยการสนับสนุนตั๋วเครื่องบินจากลูกศิษย์ชาวฝรั่งเศส บวกกับที่พักฟรีบ้านคุณโคอิชิซึ่งต่อไปนี้ผมจะขอเรียกสั้นๆว่าคุณลุงละกัน   คุณลุงพาผมไปชมร้านขายและซ่อมเครื่องเป่าที่เป็นที่รู้จักในแวดวงนักดนตรีชื่อร้าน DAC และก็ได้ตื่นตาตื่นใจกับ ฟลู้ตต่างๆที่เค้าเอามาให้ลอง ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจและตั้งตัวว่าจะซื้อฟลู้ตกลับมา เพราะเงินก็ไม่มี  ผมนั้นมีใจกับฟลู้ต Muramatsu กับ Sankyo เพราะเคยได้ยินชื่อ และเห็นคนใช้มาก่อนจำนวนมาก วันนั้นฟลู้ตที่ผมได้ลองแล้วถูกใจที่สุดคือ ฟลู้ต Sankyo รุ่น Handmade SR model ซึงเป็นรุ่นสูงสุด Soldered tone hole ก็คือ บนรูที่คีย์ต่างๆนั้น แทนที่จะใช้วิธีการดึงท่อขึ้นมาเป็นผนังขอบรู ( Drawn Tonehole) ก็ใช้วิธีเชื่อมต่อวงแหวนลงบนรูแทน ซึ่งรุ่นที่เป็น full handmade จะเป็นแบบ SR ทุกยี่ห้อ พอลองได้ตัวแล้ว ทางร้านก็เอา head joint ชนิดต่างๆมาให้เลือกอีก แต่ละชนิดก็ให้คุณลักษณะเสียงที่ต่างกัน ผมมาถูกใจเอาตัว RS4 ซึ่งให้เสียงเท่าๆกันทุก Octave ตอนนั้นนักฟลู้ตจากวง Tokyo Symphony Orchestra ซึ่งแวะมาด้วยก็ช่วยลองและชอบอันเดียวกัน และในที่สุด ด้วยบัตรเครดิตของคุณลุง ทำให้ผมได้ถอย Sankyo Handmade มาโดยไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน กลับบ้านค่อยหาทางขึ้นแชร์ใช้หนี้ตามระเบียบ

 

กลับมาจากญี่ปุ่นได้เดือนหนึ่งก็ได้มีโอกาสร่วมเล่นงาน World Philharmonic ซึ่งเป็นวงรวมนักดนตรีจากวงอาชีพทั่วโลกมารวมกัน มีนักดนตรีจากวงดังๆมาร่วมกว่าร้อยคน  ปีนั้นเผอิญเมืองไทยได้เป็นเจ้าภาพ เพราะเป็นปีที่ในหลวงทรงครองราชย์ครบ 50 ปี คอนดักเตอร์คือคุณ Myung Wung Chung ชาวเกาหลีผู้โด่งดัง เพลงหลักคือ ซิมโฟนีหมายเลข  1 ของ  Mahler ผมได้เล่น ฟลู้ต 2 โดยมี Principal flute จากวง Ulster Symphony ของ ไอร์แลนด์ ชื่อ คุณ Colin Fleming ซึ่งเคยเป็นนักเรียนของ James Galways ที่ เบอร์ลิน สมัยที่เล่นอยู่กับวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิก  ส่วนฟลู้ตสามอีกคนหนึ่งนั้นคือ คุณ Wendy Clarke เป็น Principal ของวง เมลเบิร์น ซิมโฟนี และเป็นคนอัดเสียงฟลู้ตในหนังเรื่อง Babe ที่มีหมูพูดได้ ที่เค้าเล่นฟลู้ตสามไม่ใช่เพราะผมเก่งกว่าหรอก แต่เพราะตอนขึ้นเพลง มันมีเสียง piccolo ลากเสียง ยาว และเบา ซึ่งผมเองนั้นไม่มีเครื่องและ เค้าคงเล่นได้ดีกว่าผมตรงนั้นแน่นอน ในงานนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้วิธีการเล่นของมืออาชีพจริงๆที่เค้าเล่นคอนเสิร์ตวงกันแทบทุกวัน มีหลายตอนที่เค้าแนะนำให้ผมใช้นิ้วพิเศษ เพื่อควบคุมเสียงเวลาเล่นเบาและยาวได้ดีกว่า หลายครั้งก็ต้องเล่นคู่ไปกับฟลุ้ตหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้ผมได้รับประสบการณ์ที่ดีมาก

ที่น่าประทับใจที่สุดก็เรื่องเครื่องนี่แหละ นักฟลุ้ตทั้งสองคนใช้ Brannen-Cooper คุณเวนดี้ใช้ตัวเงิน ส่วนคุณคอลลินใช้ตัวทอง นอกจากนั้นคุณคอลลินยังพกฟลุ้ตมาสำรองอีกตัว ซึ่งเป็นฟลุ้ตทองของ Muramatsu มีแกะสลักลายที่นิ้วทุกนิ้ว แถวที่ Eb key นิ้วมือขวามีฝังเพชรเม็ดเล็กๆ ราคาของมันประมาณ 1 ล้านบาท!!!  ที่สำคัญที่สุดคือฟลุ้ตตัวนี้เป็นของท่าน James Galway ให้คุณคอลลินยืมเอาไว้เล่นๆ คาดว่าลุงเจมส์คงมีแบบนี้ไม่ต่ำกว่าสองตัว  คุณคอลลินเห็นผมใช้ตัว Sankyo ซึ่งเพิ่งซื้อมาใหม่ แล้วบอกว่า ไหนๆก็ยังไม่คุ้นเครื่อง เอา Muramatsu ตัวนี้ไปเล่นก็แล้วกัน แล้วผมก็เลยได้เล่นเจ้า Muramatsu ทองของลุงเจมส์ ในคอนเสิร์ต World Philharmonic ไปด้วยความสุขสมอารมณ์หมาย นับเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ( โปรดติดตามตอนต่อไป)

link ที่น่าสนใจ

Melbourne Symphony Orchestra

Colin Fleming

Brannen-Cooper Flute



Saturday, December 27, 2008

Brandenburg Concerto No.2 Liveที่วังพญาไท

วีดิโอ Brandenburg Concerto No.2 ที่วังพญาไท  เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2551

GALYANI VADHANA INSTITUTE ORCHESTRA
Leo Phillips, Conductor

December 21st, 2008 - 7pm.
Thewarat Sapharom Hall, Phya Thai Palace

Johann Sebastian BACH: Brandenburg Concerto No. 2 in F - BWV 1047
Soloists: Tasana Nagavajara - Violin, Worapon Kanweerayothin - Flute, Damrih Banwitayakit - Oboe, Lertkiat Chongjirajitra - Trumpet, Trisdee Na Patalung - Harpsichord

Movt. I


Movt. II


Movt. III

Monday, November 24, 2008

Music App. Concert แรกของเทอมนี้



Concert ครั้งแรกของเทอมนี้

โดย Bangkok Symphony Orchestra
ในรายการ The Golden Fantasy
บรรเลงเพลงจาก ภาพยนตร์ฮอลลีวูด และ ดิสนีย์

ในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 เวลา 20:00 น.

ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ถนนรัชดาภิเษก)

บัตรราคา 100 บาท สำหรับนักศึกษาวิชานี้




สำหรับนักศึกษาวิชา Music App. ให้ปฏิบัติดังนี้

ลงชื่อไว้ที่ท้ายบทความนี้ พร้อมเลขประจำตัว (ลงทีละ เป็นกลุ่มได้) ภายในเที่ยงของวันศุกร์ที่ 28 นี้ และบัตรมีจำนวนจำกัด คนที่ลงช้าอาจไม่มีตั๋ว

ชำระเงินค่าชมคนละ 100 บาทในชั้นเรียนวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม
วันคอนเสิร์ต ให้ไปถึงสถานที่แสดงก่อนเ วลาหนึ่งชั่วโมง เพื่อรับบัตร
ประตูจะเปิดครึ่งชั่วโมงก่อนแสดง ขณะชมคอนเสิร์ต เวลาที่วงกำลังบรรเลง ต้องไ ม่ ผลิตเสียงเด็ดขาด ทำเสียงดังได้เวลาที่วงบรรเลงจบเพลง คือปรบมือดังๆ เพื่อให้กำลังใจนักดนตรี

การบ้านที่ต้องทำคือ
1. ถ่ายรูป
ตัวเอที่่คอนเสิร์ตแนบมากับรายงาน รูปสถานที่เปล่าๆ ใช้ไม่ได้
2. รายงาน รายละเอียดคร่าวๆของคอนเสิร์ต ชิ่อวง ชื่อนักแสดง (เ ฉพาะที่เ ด่นๆ ไ ม่ต้องใ ส่ชื่อนักดนตรีมาทั้งวง) เพลงที่บรรเลง (หาได้จากสูจิบัตร พร้อม รายละเอียดของท่อนต่างๆ
3. เขียนข้อประทับใจต่อคอนเสิร์ตนี้ในแง่ต่างๆ ตามความรู้สึก มา 5 ข้อ พร้อมบรรยายแต่ไม่ต้องยาวมาก รวมกันประมาณหนึ่งหน้ากระดาษ (เฉพาะส่วนของความประทับใจ) อาจจะเป็นสถานที่ คนดู นักดนตรี นักร้อง เ สียงเ ครื่องดนตรี หรือ เพลงที่เราประทับใจ
4. งานเขียนด้วยลายมือ ส่งเป็นรูปเล่มกระดาษ ในวันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม
5. ใครที่ความคิดเห็นเหมือนกับเพื่อนเปี๊ยบ ผมจะเอาคะแนนที่ได้ มาหารจำนวนเล่มที่เหมือนกัน แบ่งกันไปเท่าๆกันนะครับ

Friday, November 7, 2008

An’s Flute ที่ กรุงโซล


An’s Flute ที่ กรุงโซล

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2008 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปแสดงคอนเสิร์ตกับ BSO Strings ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ ไทย-เกาหลี รายการที่เราบรรเลงก็เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ชุดที่เราอัดแผ่น และไปทัวร์กันที่อาเซียนและญี่ปุ่นมาแล้ว บวกกับเพลงพื้นเมืองเกาหลีแถมสองเพลง
ปกติ ถ้าทัวร์รายการนี้ พวกบรรดาเหล่า woodwind ในทีมก็จะผลัดกัน solo คนละสองสามเพลงตามที่อาจารย์หม่อมหลวง อัศนี ปราโมช ท่านเรียบเรียง แต่พอดีโปรแกรมนี้ ผู้จัดไปได้ตัวน้อง ปาร์คเยรัม ซึ่งเป็นนักฟลู้ตอัจฉริยะ รุ่นเยาว์มาร่วมแสดง ก็เลยต้องยกเพลงเดี่ยวของผมสองเพลงให้เธอ ส่วนผมก็เล่นเพลงที่เหลือ ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ piccolo เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเพลงสุดท้าย ที่เราบรรเลงเป็นเพลง อารีดัง เรียบเรียงแบบ คลาสสิก เป็นวาริเอชั่น ตอนจบ piccolo ต้องเล่นเดี่ยวทำนองสำเนียงเค้า แต่เนื่องด้วยเราก็เป็นพวกเผ่าพันธ์ใกล้เคียง เลยสามารถเล่นเพลงสำเนียงเค้าได้โดยไม่ยากเย็น

ช่วงก่อนวันแสดง ผมได้มีโอกาสไปชมย่าน Seoul Arts Center ซึ่งรวมศูนย์ศิลปะ การแสดงอยู่ที่นั่น ทั้ง โรงอุปรากร โรงคอนเสิร์ต และโรงเรียนดนตรี รวมไปถึงบรรดาร้านค้าเครื่องดนตรีที่อยู่เรียงเป็นตับไปเกือบทั้งสองข้างถนนด้านหน้า นับสิบๆร้าน แสดงให้เห็นความรุ่งเรื่องของการดนตรีที่นี่ ร้านขายโน้ตที่เกาหลีนี้ก็ดีมาก เพราะเค้าเอาโน้ต เอดิชั่นโบราณ มาพิมพ์ใหม่เป็นลิขสิทธิ์ของตัวเอง แล้วขายในราคาถูกสุดๆ เล่มละประมาณร้อยกว่าบาท จากราคาร่วม ห้าหกร้อยของสำนักพิมพ์ฝรั่ง ผมไปร้านโน้ตนี้สองครั้ง พยายามเลือกหยิบเข้า หยิบออก ไปมา ได้โน้ตเพลงกลับมา ตั้งหนึ่งสูงเกือบฟุต ใช้วัดความสูงเพราะขี้เกียจนับจำนวน แต่เงินที่จ่ายนั้น ถูกกว่าซื้อโน้ตฝรั่งล้วน อย่างต่ำครึ่งหนึ่งแน่นอน

จากร้านโน้ต ก็ขยับต่อไปที่ร้านฟลู้ต ที่จริงมีร้านขายเครื่องดนตรีหลากหลายเต็มไปหมด แต่พอดีคุณแม่ของน้องเยรัม แนะนำร้าน An’s Flute ซึ่งเป็นตัวแทนขายฟลู้ต Altus และก็เป็นร้านซ่อมด้วย เธอก็ซื้อฟลู้ตและซ่อมฟลู้ตที่นี่ เจ้าของร้านเป็นคนจิตใจดี เชื่อถือได้ และเธอก็อาสาพาไปด้วย เพราะจะเอาฟลู้ตของน้องเยรัมไปเช็ค An’s Flute เป็น เหมือน สตูดิโอ เล็ก มีส่วนรับแขกเล็กๆด้านหน้า และส่วนด้านในเป็น ส่วนซ่อมเครื่อง พอผมเข้าไปก็ได้พบกับ Mr.An เจ้าของ ก็ได้ทราบว่า เค้าไปด้เคยไปอบรบอยู่กับ Powell ที่อเมริกาอยู่หกเดือน และก็ไปอบรมที่ Altus ญี่ปุ่นด้วย เค้ามีใบประกาศฯโชว์เลย จุดประสงค์ที่ผมไปวันแรกนั้นเพื่อจะไปเลือกซื้อฟลู้ตให้ลูกศิษย์ งบประมาณ ไม่เกิน เจ็ดหมื่น เค้าก็เอาฟลู้ตมาให้เลือก เป็น Altus ตัวถูกกลางๆ ราคาร่วมแสน กับ Azumi ซึ่งเป็น second brand ของ Altus ตัวทำที่ไต้หวัน แล้วใช้ headjoint ของ Altus. เค้าเอารุ่นที่เป็นเงินทั้งตัวแบบ AG958 ซึ่งเป็นเงินแบบเข้มข้นกว่า 925 ที่ยี่ห้อนอื่นใช้ offset G, split E และก็ low B มาให้ลอง ไม่น่าเชื่อว่าคุณภาพใกล้เคียง Altus มาก โดยเฉพาะ ความเรียบของคีย์และสเกล octave ล่างเป่าสบาย octave 3 เป่าง่ายมากๆ เสียงใส และเรียบ สนนราคาที่เสนอก็น่าตกใจคือ ถูกกว่า Altus เกือบครึ่ง พอผมตกลงใจซื้อ คุณอันแกก็เอาฟลู้ตเข้าไปด้านใน ปรับแต่งอีกนิดหนึ่งออกมาให้ลอง ปรากฎว่าเครื่องยิ่งเทอร์โบกว่าเก่า เป่าง่ายลื่นเลย แกบอกว่า ปรับคีย์ นิ้วก้อยซ้ายด้วยให้มันเบาจะได้เล่นง่าย แต่เนื่องด้วยผมไม่คุ้นเลยบอกไม่ค่อยชอบ แกก็เลยหายกลับเข้าไปอีก สองนาที และก็ออกมาแบบเดิม

เราคุยกันถูกคอ แกบอกว่าไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับดนตรีในเมืองไทย พอผมทราบว่าแกซ่อมฟลู้ตทุกยี่ห้อ ก็เลยเอา piccolo ไปให้แกดูในวันรุ่งขึ้น ซึ่งแกก็อนุญาตให้เข้าไปใน ห้องซ่อมด้านใน ซึ่งมีช่างหนุ่มสาว 3-4 คนอยู่ และก็มีนักเรียนอีกสองคนคนมาเรียนซ่อมอยู่ด้วย ลืมเล่าไปนิดนึงว่า ช่างซ่อมทกคนเป็นคนเล่นฟลู้ตมาก่อนทั้งนั้น โดยเฉพาะคุณอัน แกลองเป่าเครื่องที่ปรับมา ผมสังเกตว่า วิธีการเป่านั้น ละเอียดกับเรื่องริมฝีปาก และเสียงละเอียดมาก แทบไม่มีเสียงลมเลย ริมฝีปากบนล่างนี่ เฉือนกันให้ลมออกมาด้านล่างแบบบางและคมเฉียบ ผมมองแกเป่าและแอบจำมาลองฝึกดู และก็ให้ผลที่ดี น่าสนใจมาก ที่เราสามารถเรียนวิธีการเป่าฟลู้ตจากช่างซ่อมฟลู้ตได้ ที่จริงบ้านเราก็มีช่างที่ฝีมือละเอียด แต่ปัญหาคือ เค้าไม่สามารถเป่าและลองงานที่ซ่อมมาได้แบบนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับช่างฝีมือ ผมฝันว่าวันหนึ่งเราจะมีนักฟลู้ตที่ผันตัวเองไปเรียนช่าง ซึ่งจะมาช่วยเติมเต็มและส่งเสริมวงจรของการดนตรีในบ้านเราได้ ถ้าใครสนใจที่จะไปเรียนที่นี่ก็ลองบอกมานะครับ ผมจะลองถามคุณอันให้


กลับมาที่เรื่อง piccolo ของผม เป็นของยี่ห้อ burkart & phelan ซึ่งได้มาจากญี่ปุ่นเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมให้คุณอันช่วยดูและปรับให้มันออกเสียงสูงได้ง่ายขึ้น piccolo ตัวนี้ให้เสียงต่ำที่กว้างและเพราะมาก แต่ออกเสียงสูง ตั้งแต่ G3 ยาก คุณอันหยิบจับดู ก็จัดการเปลี่ยนนวม trill key สองตัวบน และก็เช็คเปลี่ยนคอร์ค ที่ headjoint ให้ก่อน หลังจากมาลองแล้วยังไม่ค่อยดีขึ้น ก็ มีตัวช่วยคือ เติมวงแหวนซิลิโคน ตรงหัวของ คอร์ค เพิ่มลงไป เพื่อช่วยเวลาที่คอร์คหดตัว วงแหวนซิลิโคนนี้จะคงรูปมากกว่าช่วยให้อากาศไม่รั่วออกมา หลังจากนั้นก็มาลองอีกที ก็ปรากฎว่ายังไม่ค่อยดี คุณอันก็เลย ใช้เทียนละลายอุดตรงช่องอากาศตรงฝาครอบ headjoint อีกทีหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นวิธีโบราณของการทำหัวฟลู้ตไม้เลย หลังจากมาลองก็ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่น่าพอใจ คุณอันก็อธิบายหลังจากพินิจพิเคราะห์ ว่าน่าจะเกิดจากการที่ headjoint ตัวนี้ มี ลักษณะพิเศษคือ ขอบของรูเป่าด้านนอกนั้นต่ำกว่าด้านใน ซึ่งเป็นผลทำให้ผลิตเสียงต่ำได้ดี แต่ก็ทำให้ผลิตเสียงสูงได้ยากขึ้น จากนั้นก็เอา piccolo ยี่ห้อ Global ที่เป็น Burkart แบบถูกให้ลองดู พร้อมกับ headjoint แบบใหม่ที่เรียกว่า ‘wave headjoint’ ซึ่งเค้ายกขอบรูเป่าด้านนอกให้สูงแหลมขึ้นมา (ดูภาพประกอบ) อันนี้เป็นวิทยาการการทำ headjoint แบบล่าสุดเพื่อช่วยให้ผลิตเสียงสูงได้ง่ายขึ้น ผมลองแล้วมันเป่าง่ายจริง แต่ไม่คุ้นเลย มันยังแปลกๆอยู่ หลังจากเสร็จสิ้นการลองปรับทุกอย่าง เจ้า piccolo ของผมก็มีเสียงดีขึ้น แม้ว่ายังเป่าเสียงสูงได้ค่อนข้างยาก แต่ก็นับว่าง่ายขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ก็ต้องขอขอบคุณ Mr. An ผู้ซ่อมเครื่องให้แบบไม่คิดเงิน และก็อนุญาตให้เข้าไปนั่งดู อย่างใกล้ชิด แถมให้ความรู้อีกมากมาย ถ้าบ้านเรามีคนซ่อมฟลู้ตแบบนี้ซักคนคงดีเนอะ ....
* สามารถชมรูปถ่ายที่เกาหลีได้ ที่นี่ ครับ

Friday, September 12, 2008

Headjoint Cork




 Headjoint cork เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญมากที่สุดชิ้นหนึ่งของฟลู้ต   คอร์กที่ดี ควรจะแน่นพอดี เพราะถ้าแน่นไปจนไม่สามารถขยับได้ (โดยช่างผู้ชำนาญเท่านั้น) ก็จะเกิดความเสียหายกับฟลู้ตได้ เมื่อจำเป็นต้องปรับตำแหน่ง 

และถ้าหลวมไปจนเราสามารถหมุนเกลียวที่หัวฟลู้ตได้ง่ายๆ  ลมที่เราเป่าเข้าไปก็จะรั่วออกทางหัว และทำให้เราต้องออกแรงเป่ามากขึ้น กว่าจะได้เสียงดี หรือไม่ได้เลย

 

Headjoint cork นั้นจะถูกขันยึดไว้ห่างจากตรงกลางของรูเป่า ประมาณ 17 มิลลิเมตร 

ฟลู้ตแต่ละยี่ห้อ อาจจะมีสัดส่วนตรงนี้ต่างกันเล็กน้อย  แต่เราสามารถวัดว่าตำแหน่งของ cork ว่าตรงหรือไม่โดยการเอาส่วนท้ายของไม้เช็ดฟลู้ต (ที่ติดมากับฟลู้ตตัวนั้น) ใส่เข้าไปใน headjoint  เมื่อเรามองเข้าไปในรูเป่า ถ้าเห็นเส้นบนไม้เช็ดฟลู้ต อยู่ตรงกลางของรูเป่า แสดงว่า คอร์กนั้นอยู่ตรงตำแหน่งที่เหมาะสม   ถ้าคอร์กเลื่อนออกจากตำแหน่ง จะมีผลต่อ pitch ของฟลู้ตในแต่ละ octave 

ปัญหาอีกอย่างก็คือ ถ้ามันไม่อยู่ตรงตำแหน่ง แสดงว่ามันขยับได้ง่าย ซึ่งก็มักจะแปลว่ามันหลวมแล้ว  

วิธีแก้แบบง่ายๆในขั้นแรกคือ ถ้าคอร์กเลื่อไปทางหัวฟลู้ต เราสามารถปรับมันกลับโดยการคลายเกลียวที่หัวออกเล็กน้อย แล้วก็ กดหัวฟลู้ตที่คลายออก เข้าไป การกดนี้อาจจะต้องออกแรงมาก ก็ควรระวังอย่าไปกดกระแทกกับพื้นผิวที่แข็งเกินไป จนทำให้ฟลู้ตเสียหาย

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคอร์ก เลื่อนไปทางหางของ headjoint เราก็เพียงแต่ขันเกลียวที่หัว ให้แน่นเข้า คอร์กนั้นก็จะร่นเข้ามาเอง

 

ทีนี้ ถ้าเรามีปัญหาว่า คอร์กนั้นหลวมจนเป่าไม่เป็นเสียง เป่าลมเข้าไปเท่าไร ก็หายไปเกือบหมด เราสามารถ ซ่อมคอร์กนั้นใช้ชั่วคราวระหว่างรอการนำฟลู้ตไปซ่อมเปลี่ยนคอร์กโดยช่าง   วิธีการก็คือ นำคอร์กนั้นไปแช่ในน้ำเดือด ซัก 5 นาที เพราะนั่นจะทำให้คอร์กขยายตัว เมื่อนำกลับเข้าไป ก็จะแน่นเกือบเหมือนเดิม

 

การเอาคอร์กออกจาก headjoint  เพื่อนำไปแช่น้ำนั้นเราจะเอาคอร์กออกทางปลายของ headjoint เท่านั้น เพราะ ท่อของ headjoint นั้นจะเรียวเล็กไปทางหัวเพื่ออัดคอร์กให้แน่นเข้าไป    วิธีการก็เหมือนกับการขยับคอร์กไปทางปลาย คือ คลายเกลียวที่หัว และค่อยๆดันออกทางปลายจนหลุดออกมา

ส่วนวิธีการใส่เข้า หลังจากทำให้คอร์กบวมแล้ว จะค่อนข้างยาก เพราะเราต้องหาวัสดุแข็งปานกลาง ประเภทไม้ ที่มีขนาดเล็กกว่าท่อฟลู้ตเล็กน้อย ค่อยๆ ดันคอร์กเข้าไป   บางครั้งที่เราแช่คอร์กจนบวมมากจนดันไม่เข้าก็ต้องระวังว่าอย่าไปออกแรงจนพลาดไปทำให้  headjoint เสียหาย

 

อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำที่ดีที่สุด คือ เอาไปให้ช่างซ่อมเปลี่ยนให้ เพราะ อะไหล่ คอร์กชิ้นหนึ่งราคาประมาณ ร้อยบาทเอง รวมค่าแรงแล้วก็คงไม่แพงเท่าไร แต่ได้ฟลู้ตที่ดีเหมือนใหม่มาเป่า

 

เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ ถ้าคุณสงสัยว่าทำไมเราเป่าฟลู้ตเท่าไร เสียงมันก็หายๆ ไม่แน่น เหมือนเดิม ก็จงสงสัย เรื่องคอร์กนี้ก่อนเลย นะครับ

* picture from http://flute.pantown.com, www.flutesonline.com, www.flutesmith.com

Tuesday, September 2, 2008

Flute Master Class

บ้านฟลูต เชิญร่วมกิจกรรม Flute Master Class ในวันอาทิตย์ที่ 14 กันยายนนี้

โดยครั้งนี้ บ้านฟลูตได้รับเกียรติจาก อาจารย์วรพล กาญจน์วีระโยธิน อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เล่นฟลูตอันดับหนึ่งประจำวง Bangkok Symphony Orchestra มาเป็นวิทยากร

กิจกรรม : พบกับการเรียนการสอน และการแบ่งปันประสบการณ์จากอาจารย์วรพล โดยท่านสามารถเลือกประเภทการเข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้

1. Active participant - สำหรับนักเรียนที่ต้องการเรียนกับอาจารย์วรพล โดยนำบทเพลงมาแสดงและเรียนกับอาจารย์แบบตัวต่อตัว

2.Auditor - สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมการเรียนการสอน เพื่อรับการแบ่งปันสาระความรู้ต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อการพัฒนาทักษะการบรรเลง ตลอดจนการสอนฟลูตของตน

เวลากิจกรรม : 13.00 น. เป็นต้นไป
ค่าเข้าร่วมกิจกรรม : Active Participant ท่านละ 500 บาท,
Auditor ท่านละ 250 บาท
สถานที่ : บ้านฟลูต

ผู้ ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม สามารถส่งชื่อ, ประเภทการเข้าร่วมกิจกรรม (Active participant หรือ Auditor) และชื่อบทเพลงที่ต้องการนำมาเรียน (ในกรณีที่เป็น Active participant) มาได้ที่ baanflute@hotmail.com หรือ baanflute@yahoo.co.th

http://www.baanflute.com

http://worapon.blogspot.com

Wednesday, August 27, 2008

My flute sound with BSO in Japan concert 2002

Track 6 Firebird - Bangkok Symphony Orchestra

เสียงเพลงที่ฟังนี้ เป็นการอัดเสียงด้วยเครื่อง MD ซึ่งสมัยนั้นเดิ้นสุด เสียงดิจิตอลยุคแรกที่คนธรรมดาอัดกันเองได้ วางอัดตอนซ้อมใน Tokyo Opera CIty Hall เราเล่น Firebird Suite v.1947 ซึ่งใช้วงค่อนข้างเล็ก ฟลู้ตสองคน Hall นี้เสียงก้องกังวาลมาก จนเราไม่สามารถเล่นเสียงหยาบได้ เพราะมันจะชัดมาก ตอนที่ฟังเสียงครั้งแรกยังงงเลยว่าเสียงวง BSO หรือนี่ ไม่เคยได้ยินอะไรแบบนี้ อันนี้ยืนยันคำพูดที่ว่า ห้องที่แสดงดนตรีนับเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดอีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้เสียงดนตรีนั้นเพราะหรือไม่

คอนเสิร์ตนี้นับเป็นครั้งแรกที่วงเราออกไปแสดงถึงญี่ปุ่น ในโตเกียวซึ่งมีวงอาชีพอยู่ร่วมสิบวง ไม่นับวงรับเชิญอีกปีละเป็นร้อยๆวง ตอนแรกก็สงสัยว่าใครจะมาดูคอนเสิร์ตวงจากโลกที่สามอย่างพวกเรา แต่ผู้ชมที่สนใจก็มาชมกันเกือบเต็มที่นั่ง สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดของคอนเสิร์ตนี้ก็คือ สมเด็จพระพี่นางฯ เสด็จมาทอดพระเนตรการแสดงของวงเราถึงญี่ปุ่น พร้อมคณะผู้ติดตาม ทรงประทับอยู่ ชั้นสองตรงกลาง คล้ายกับที่ประทับในเมืองไทยของราชวงศ์ โดยปกติธรรมเนียม นักดนตรีวงเดินออกมาบนเวทีก็นั่งลงวอร์มกันเลย แต่พวกเรา เนื่องด้วยพระองค์ทรงประทับอยู่ พวกเราก็ทยอยเดินออกมาและยืนรอจนครบวง แล้วก็ถวายคำนับพร้อมกันทั้งวง ปรากฎว่าผู้ชมในHall ปรบมือเสียงกึกก้องเลย ขนลุกเลย นึกถึงภาพนั้นคงเป็นภาพที่สวยงาม พวกเราก็เล่นกันสุดใจ ตามประสาคนไทย เวลาซ้อมโอเค แต่เวลาแสดง เต็มที่สองร้อยเปอร์เซ็นต์

เพลงแรกที่บรรเลงก็เป็นเพลง Sinfonia Chakree ของ อ.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร อาจารย์เขียนเพลงได้สวยงามและยิ่งใหญ่อลังการ ผสมเสียงเพลงไทยและสมัยใหม่เข้าไป แถมช่วงท้ายอาจารย์เอาทำนองเพลงคล้ายๆส่วนหนึ่งของเพลงพระราชนิพนธ์ปลุกใจ บทหนึ่ง ฟังแล้วมันขนลุก (อีกแล้ว) ถ้ายังไงผมจะตัดต่อช่วงนั้นมาให้ฟังในโอกาสต่อไป ทั้งเพลงมันยาว 13 นาที คงลงทั้งเพลงไม่ไหว

เพลงที่สองเป็น Piano Concerto ของ Ravel ขึ้นต้นมาก็เป็น piccolo solo ซึ่งผมรับหน้าที่ เพลงนี้ เพื่อนๆ woodwind ทุกคน ทั้ง 1st และ 2nd มี part solo หมดเลย และก็เป็นโซโลที่ยากและเด่นชัดแบบทุกคนรอฟัง เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะตื่นเต้นกับมันมาก เรามาคุยกันด้วยความสนุกสนานตอนหลังจากคอนเสิร์ตว่าระหว่างเพลงนั้น ต่างคนต่างลุ้นไม่เฉพาะ part ของตัวเอง แต่คอยฟังคนอื่นและช่วยลุ้น เวลาถึงท่อนโซโลของแต่ละคน ว่าเล่นผ่านมั้ย ตลอดเพลง

เพลงสุดท้ายซึ่งอยู่ครึ่งหลังก็คือเพลง Firebird Suite Version 1947 ของ Stravinsky พวกเราเคยเล่นเพลงนี้มาก่อนใน Version 1919 ซึ่งสั้นกว่าและเป็นวงใหญ่กว่า part flute มีสามคน แต่ชุดนี้ใช้แค่สองคน ทำให้เราต้องรับโน้ตมาแบ่งกันเล่นเยอะขึ้น ท่อนหนึ่งที่ยากที่สุดคือ ท่อนที่สอง (Track 2) มีโน้ต6พยางค์ กระโดดขึ้นลง ทั้ง slur และ staccato และก็ต้องเล่นให้ไหลต่อกัน โน้ตของ Stravinsky ก็ไม่ใช่โน้ตในสเกลที่เราคุ้น แต่ละวรรคไม่มีทาง sight read ต้องนั่งแกะกันไปทีละวรรคเลย ทั้ง่อนยาวแค่สองนาที แต่ซ้อมกันแทบแย่Track 2 Firebird - Bangkok Symphony OrchestraTrack ที่ 6 น่าจะเป็นท่อนที่เพราะที่สุด เริ่มด้วยเสียงฟลู้ตโน้ต F# 3 ซึ่งเริ่มต้นแบบห้ามดัง ตอนเล่นก็มีลุ้นว่าจะมาตามนัดมั้ย แต่ก็ผ่านไปด้วยดี จุดเด่นคือเสียงโอโบ โดย อ.ดำริห์ ในท่อนนี้ บอกได้คำเดียวว่า world class (ในความคิดของผม)

ยังไงก็ลองอดทนรอโหลดฟังกันดูนะครับ เสียงคงไม่เลิศเลอเหมือนแผ่นจริง แต่อัดแน่นด้วยวิญญาน :-)



Track 9 Firebird Finale - Bangkok Symphony Orchestra

Tuesday, August 19, 2008

ฟลู้ตที่ผมใช้ (ตอนที่ 1)

ว่าด้วยเรื่องฟลู้ตที่ผมใช้

เผอิญว่าในช่วงที่ผ่านมาได้อ่านคำถามของนักเรียนเรื่องการเลือกซื้อฟลู้ตใหม่ และก็มีคำตอบจากเวบ ของ อ. ชัชวาล อรรถกิจโกศล ที่ www.chat-flute.com เลยเกิดความคิดว่าน่าจะเอาความคิดเห็นและประสบการณ์ตรงของผมมาแลกเปลี่ยนกันบ้าง เพียงแต่ยังไม่เกี่ยวกับการเลือกซื้อฟลู้ตจริงๆ แต่เป็นประสบการณ์ของผมกับฟลู้ตตัวที่เคยใช้กันมา

ในช่วงยี่สิบปีกว่าที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยผมเป็นนักเรียน ฟลู้ตในท้องตลาดบ้านเรา มีให้เลือกน้อยมาก ยี่ห้อระดับล่างนั้นก็เป็นของจากจีน ซึ่งทางโรงเรียนนิยมซื้อใช้ เพราะราคาถูก แต่ผลของราคาถูกก็คือ นวมที่รั่ว ปิดไม่สนิท ทำให้พวกเรายากจะเป่าออกมาเป็นเสียงที่ดีได้ ยี่ห้อที่ดูดีมีระดับขึ้นมาก็ มีพวก Artley, Armstrong, และ Gemeinhardt ซึ่งเป็นฟลู้ตนักเรียนของอเมริกา แต่ที่หรูที่สุดก็เป็น ของยามาฮ่ารุ่น 100 (ที่ปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้ว) นี่แหละ เพราะการประกอบที่ค่อนข้างมาตรฐานกว่าใครเพื่อน ทำให้เป่าออกเสียงง่าย โดยเฉพาะโน้ตตัวต่ำ

ระหว่างช่วงที่เรียนจุฬาฯ จนจบมาใหม่ๆ ผมก็มีปัญญาพอแค่ซื้อฟลู้ต Armstrong ตัวละแถวๆหมื่นบาทเล่น ฟลู้ตตัวแรกไม่ได้มีคนเลือกให้ แต่ก็พอใช้ได้ ไม่มีปัญหา เหมาะกับความรู้ของตัวเองในยุคนั้น ถ้าใครอยากฟังเสียงของมันก็ลองหาแผ่น วงไหมไทยยุคแรก ชุดที่ 2 ทุ่งแสงทองและ ชุดที่ 3 ใต้แสงเทียน เสียงฟลู้ตผมตอนนั้นใกล้ขลุ่ยไม้เลย แต่ความที่ได้อยู่ในวงไหมไทยเลยทำให้ได้เล่นคอนเสิร์ตหลายครั้ง เพลงอีกชุดหนึ่งที่ชอบมากคือชุดที่เป็นเพลงบทกวี บทเพลงที่ผมประทับใจมากจากการอัดเสียงในชุดนั้นชื่อว่า อย่าทำน้ำไหว ซึง อ.ดนู ฮันตระกูลแต่งให้กับฟลู้ตโซโล ไปพร้อมกับการอ่านบทกวีโดย อ.เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ด้วย ลีลาของเพลงและบทกวีช่างเข้ากันเหลือเกิน เสียดายว่าหาซื้อเป็นซีดีไม่ได้แล้ว ผมเคยพยายามหาก็มีแต่ชุดรวมแค่เพียงชุดเดียว

ฟลู้ตตัวต่อมานั้นได้มาก่อนไปศึกษาต่อที่เยอรมันในปี 1990 ซึ่งก็ได้ครูฟลู้ตในตอนนั้นชื่อ Dr.Ney ซึ่งเป็นทูตวัฒนธรรมของประเทศเยอรมันในไทย ฝากเพื่อนนักฟลู้ตมืออาชีพในเยอรมันซื้อให้ แต่ผลที่ออก บวกกับงบแถวๆ หกหมื่น ก็ได้ออกมาเป็น Yamaha-571 (ก่อนหน้านั้น ผมได้มีโอกาสเรียนกับนักฟลู้ตชาวอเมริกัน และเห็นว่าฟลู้ต Haynes ของท่านตัวละห้าหมื่น ผมก็ถอดใจแล้วว่าชาตินี้คงไม่มีปัญญามีฟลู้ตแพงอย่างนั้น เด็กๆสมัยนี้อ่านแล้วคงขำ เพราะพี่มีฟลู้ตตัวเป็นแสน สองแสนตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว) ฟลู้ตตัวที่สองนี้ก็ได้เงินเปียแชร์ของแม่มาให้ เพราะถึงแม้จะทำงานแล้วแต่ก็ไม่มีเงินก้อนแบบนั้นมาซื้อ

Yamaha 571 ตัวนั้น เป็นแบบตัวเงิน keyเป็น นิเกิล Pointed Arm (ปัจจุบันสเป็คนี้น่าจะเป็นของรุ่น 6 ) ก็ได้นำไปเรียนด้วยกันที่เยอรมัน และก็พบว่า นักเรียนฟลู้ตที่นั่น ใช้ฟลู้ตรุ่นแพงกว่าและดีกว่าผมทุกคน มีสาวญี่ปุ่นพาฟลู้ต Sankyo ทองมาสอบแข่งพร้อมกัน และก็หนุ่มเยอรมันคนหนึ่งก็เอาฟลู้ต Sankyo เงิน ใส่ Headjoint handmade ยี่ห้อไม่รู้จักเลยมาสอบ ทำให้เพิ่งรู้จักฟลู้ต Sankyo คราวแรก ตอนนั้น มีความรู้สึกว่าเราหลังเขามากเลย ไอ้ยี่ห้อ Sankyo เค้าใช้กันทั่วยุโรป เรากลับไม่เคยได้ยินชื่อมันเลย เคยได้ยินแต่ Muramatsu และก็มารู้อีกทีหลังว่า คนทำ Sankyo ก็คืออดีตช่างของ Muramatsu ที่แยกตัวออกมานั่นเอง

กลับมาจากเยอรมัน เจ้า Yamaha-571 ก็ได้รับใช้ผมจนถึงปี 1996 ระหว่างนั้นผมก็ได้ใช้มันแสดงกับ BSO มาตลอด ทั้งเล่นคอนเสิร์ตและอัดเสียงชุด เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงชาติ วาระที่สำคัญที่สุดก็น่าจะเป็นตอนที่ได้รับเลือกให้แสดง Flute Concerto in D ของ Mozart กับวง ECCO ( European Community Chamber Orchestra) ตอนนั้นยังไม่รวมเป็น EU เมื่อเดือนธันวาคมปี 1994 ผมซ้อมเพลงนั้นอยู่ 3 เดือนก่อนคอนเสิร์ต และพอวันแสดง เค้าก็อนุญาตให้ผมซ้อมกับวงแค่ครั้งเดียวคือ 5 โมงเย็นวันนั้น ก่อนจะแสดงตอนสองทุ่ม ก็นับเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นประทับใจ วงนี้ไม่มีคอนดักเตอร์ ให้คอนเสิร์ตมาสเตอร์เป็นคนเล่นและนำไปด้วย ผมก็ด้วยความที่ซ้อมมาจนขึ้นใจ ตัดสินใจเล่นโดยไม่มีโน้ต ก็ปรากฎว่ามีการหลุดความจำด้วยความตื่นเต้นเล็กน้อย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี ท่านสามารถไปดู ภาพบทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ The Nation ได้ ที่นี่ ครับ

มาถึงตอนนี้ก็ขอจบตอนแรกไว้ก่อน เอาไว้ค่อยมาต่อตอนฟลู้ต ตัวต่อไป ถ้าอ่านแล้ว อย่าอ่านเฉยๆ ช่วยแสดงความคิดเห็นหน่อย จะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นนะครับ

Monday, August 18, 2008

My Coming Concerts Schedule

ดูทั้งตารางถึงสิ้นปีได้ ที่ wworapon.multiply.com ครับ

Aug. 26th, at Thailand Cultural Center
with Bangkok Symphony Orchestra
Conducted by Nora-at Chunklam
Programme: Thai Classics

Aug. 29th, at Kad Theatre, Chiangmai
Aug. 30th, at Gateway Hotel, Payao
Solo with BSO Strings
Tribute to The Great King Concert
Conducted by M.L. Usni Pramoj
Programme:
King Bhumiphol The Great's 16 compositions

September 6th, at Thailand Cultural Center
NORDIC MASTERS
with Bangkok Symphony Orchestra
Conducted by Okku Kamu
Piano Soloist: Patrick Jabronski
Programme:
Sibelius: Finlandia
Grieg: Piano Concert
Sibelius: Symphony no. 1

Sunday, August 10, 2008

Saturday, August 9, 2008

ประวัติทางด้านดนตรีแบบย่อๆของผม

วรพล กาญจน์วีระโยธิน เริ่มเล่นฟลู้ตกับ อ.เดชา แสงทอง ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จากนั้นก็ศึกษาต่อที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สาขาดุริยางค์สากล เอกเครื่องดนตรีฟลู้ต จนจบได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และได้รับทุนอานันทมหิดล โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ไปศึกษาการเล่นฟลู้ทที่เยอรมันเป็นเวลา 2 ปี

วรพลเคยได้รับเชิญเป็นผู้แสดงเดี่ยว Flute Concerto in D Major ของ Mozart กับวง the European Community Chamber Orchestra ในปี 1994
กับวง The Ensemble Contemporary Alpha from Tokyo National University of Fine Arts and Music ในปี 1995
แสดงเดี่ยวฟลู้ทร่วมกับ BSO String Orchestra เสนอผลงานบทเพลงพระราชนิพนธ์ในการทัวร์ในแถบประเทศอาเซียนในปี 2006 ที่ ฮานอย โฮจิมิน จาการ์ต้า สิงคโปร์ มะนิลา และญี่ปุ่นที่เมือง โตเกียวและโอซาก้าในปี 2007

ปี 2007 ได้รับเลือกให้เป็นผู้แสดงเดี่ยวคู่กับนักดนตรีจากญี่ปุ่นในบทเพลง Double Concerto ของ Salieri กับวง Asean Japan Festival Orchestra .ในงานฉลองความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 120 ปี

นอกจากนั้นวรพลยังได้ร่วมเล่นคอนเสิร์ตเชมเบอร์มิวสิกเป็นประจำ กับ วง BSO Woodwind Quintet และ Silpakorn Ensemble แสดงคอนเสิร์ตทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด
วรพลมีประสบการณ์การร่วมเล่นดนตรีกับวงต่างๆทั้งในและต่างประเทศเช่น World Philharmonic Orchestra, Tokyo City Philharmonic, Malaysian National Orchestra, Pan Asia Orchestra วงไหมไทย เชมเบอร์ออร์เคสตร้า และวงดุริยางค์กรมศิลปากร

ปัจจุบัน เป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารสาขาการแสดงดนตรีคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นหัวหน้ากลุ่มฟลู้ทประจำวง Bangkok Symphony Orchestra

Tuesday, August 5, 2008

Thursday, July 24, 2008

สำหรับนักศึกษาวิชา Music App.

พื้นที่นี้ เป็นที่ติดต่อกับนักศึกษาวิชา Music App. กรุณาเข้ามาเช็คดูบ่อยๆนะครับ


ผมกำลังแก้ไขเนื้อหาให้ดียิ่งขึ้น ไฟล์ที่แก้ไขแล้วจะมีลงวันที่ต่อท้าย ถ้าเห็นวันที่ล่าสุดก็โหลดได้เลยครับ 
ไฟล์ประวัติดนตรี ฉบับล่าสุด คือ MusicAppHistory ที่มีอยู่นี้เนื้อหามากเกินกว่าที่เราเรียน ผมจะพยายามย่อและอธิบายให้ดีขึ้น แต่ใครอยากโหลดไปอ่านก่อนเป็นความรู้ก็ได้นะครับ

นักศึกษา สามารถไปดาวน์โหลดได้ ที่นี่ เลยครับ

เมื่อเข้าไปแล้วให้คลิ้กดาวน์โหลดไฟล์ตรงลูกศรในวงกลมด้านขวาของไฟล์ได้เลยนะครับ

My Photos

You can see my photos at http://wworapon.hi5.com and at http://wworapon.multiply.com