Worapon welcome you to his webblog

ยินดีต้อนรับ สู่เวบบล็อค ของผม วรพล กาญจน์วีระโยธิน
จากประสบการณ์ การเล่นและการสอนฟลู้ตมา ยี่สิบกว่าปี
ผมตั้งใจให้เวบนี้ เป็นที่ทำความรู้จักกันกับแขกที่เข้ามาเยี่ยม
เป็นที่แลกปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการเล่นฟลู้ตอีกที่หนึ่ง โดยจะพยายามเขียนบทความเกี่ยวกับการเล่นฟลู้ต จากการศึกษา และประสบการณ์ ของตัวเอง
รวมทั้งแจ้งข่าวสาร เกี่ยวกับคอนเสิร์ตที่จะเล่น รวมถึง ลิ้งค์ วีดิโอ ที่น่าสนใจ มานำเสนอด้วย

มีอะไรที่สงสัย เกี่ยวกับการเล่นฟลู้ต หรืออาจจะเกี่ยวกับเรื่องดนตรีทั่วไป ก็ ฝากข้อความคำถาม ได้ที่ wworapon@gmail.com ครับ


*สำหรับนักศึกษาวิชาดนตรีวิจักษ์*
*รายงานของนักศึกษาวังท่าพระให้ส่งวันสอบเลยนะครับที่เจ้าหน้าที่*

Tuesday, August 19, 2008

ฟลู้ตที่ผมใช้ (ตอนที่ 1)

ว่าด้วยเรื่องฟลู้ตที่ผมใช้

เผอิญว่าในช่วงที่ผ่านมาได้อ่านคำถามของนักเรียนเรื่องการเลือกซื้อฟลู้ตใหม่ และก็มีคำตอบจากเวบ ของ อ. ชัชวาล อรรถกิจโกศล ที่ www.chat-flute.com เลยเกิดความคิดว่าน่าจะเอาความคิดเห็นและประสบการณ์ตรงของผมมาแลกเปลี่ยนกันบ้าง เพียงแต่ยังไม่เกี่ยวกับการเลือกซื้อฟลู้ตจริงๆ แต่เป็นประสบการณ์ของผมกับฟลู้ตตัวที่เคยใช้กันมา

ในช่วงยี่สิบปีกว่าที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยผมเป็นนักเรียน ฟลู้ตในท้องตลาดบ้านเรา มีให้เลือกน้อยมาก ยี่ห้อระดับล่างนั้นก็เป็นของจากจีน ซึ่งทางโรงเรียนนิยมซื้อใช้ เพราะราคาถูก แต่ผลของราคาถูกก็คือ นวมที่รั่ว ปิดไม่สนิท ทำให้พวกเรายากจะเป่าออกมาเป็นเสียงที่ดีได้ ยี่ห้อที่ดูดีมีระดับขึ้นมาก็ มีพวก Artley, Armstrong, และ Gemeinhardt ซึ่งเป็นฟลู้ตนักเรียนของอเมริกา แต่ที่หรูที่สุดก็เป็น ของยามาฮ่ารุ่น 100 (ที่ปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้ว) นี่แหละ เพราะการประกอบที่ค่อนข้างมาตรฐานกว่าใครเพื่อน ทำให้เป่าออกเสียงง่าย โดยเฉพาะโน้ตตัวต่ำ

ระหว่างช่วงที่เรียนจุฬาฯ จนจบมาใหม่ๆ ผมก็มีปัญญาพอแค่ซื้อฟลู้ต Armstrong ตัวละแถวๆหมื่นบาทเล่น ฟลู้ตตัวแรกไม่ได้มีคนเลือกให้ แต่ก็พอใช้ได้ ไม่มีปัญหา เหมาะกับความรู้ของตัวเองในยุคนั้น ถ้าใครอยากฟังเสียงของมันก็ลองหาแผ่น วงไหมไทยยุคแรก ชุดที่ 2 ทุ่งแสงทองและ ชุดที่ 3 ใต้แสงเทียน เสียงฟลู้ตผมตอนนั้นใกล้ขลุ่ยไม้เลย แต่ความที่ได้อยู่ในวงไหมไทยเลยทำให้ได้เล่นคอนเสิร์ตหลายครั้ง เพลงอีกชุดหนึ่งที่ชอบมากคือชุดที่เป็นเพลงบทกวี บทเพลงที่ผมประทับใจมากจากการอัดเสียงในชุดนั้นชื่อว่า อย่าทำน้ำไหว ซึง อ.ดนู ฮันตระกูลแต่งให้กับฟลู้ตโซโล ไปพร้อมกับการอ่านบทกวีโดย อ.เนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ด้วย ลีลาของเพลงและบทกวีช่างเข้ากันเหลือเกิน เสียดายว่าหาซื้อเป็นซีดีไม่ได้แล้ว ผมเคยพยายามหาก็มีแต่ชุดรวมแค่เพียงชุดเดียว

ฟลู้ตตัวต่อมานั้นได้มาก่อนไปศึกษาต่อที่เยอรมันในปี 1990 ซึ่งก็ได้ครูฟลู้ตในตอนนั้นชื่อ Dr.Ney ซึ่งเป็นทูตวัฒนธรรมของประเทศเยอรมันในไทย ฝากเพื่อนนักฟลู้ตมืออาชีพในเยอรมันซื้อให้ แต่ผลที่ออก บวกกับงบแถวๆ หกหมื่น ก็ได้ออกมาเป็น Yamaha-571 (ก่อนหน้านั้น ผมได้มีโอกาสเรียนกับนักฟลู้ตชาวอเมริกัน และเห็นว่าฟลู้ต Haynes ของท่านตัวละห้าหมื่น ผมก็ถอดใจแล้วว่าชาตินี้คงไม่มีปัญญามีฟลู้ตแพงอย่างนั้น เด็กๆสมัยนี้อ่านแล้วคงขำ เพราะพี่มีฟลู้ตตัวเป็นแสน สองแสนตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว) ฟลู้ตตัวที่สองนี้ก็ได้เงินเปียแชร์ของแม่มาให้ เพราะถึงแม้จะทำงานแล้วแต่ก็ไม่มีเงินก้อนแบบนั้นมาซื้อ

Yamaha 571 ตัวนั้น เป็นแบบตัวเงิน keyเป็น นิเกิล Pointed Arm (ปัจจุบันสเป็คนี้น่าจะเป็นของรุ่น 6 ) ก็ได้นำไปเรียนด้วยกันที่เยอรมัน และก็พบว่า นักเรียนฟลู้ตที่นั่น ใช้ฟลู้ตรุ่นแพงกว่าและดีกว่าผมทุกคน มีสาวญี่ปุ่นพาฟลู้ต Sankyo ทองมาสอบแข่งพร้อมกัน และก็หนุ่มเยอรมันคนหนึ่งก็เอาฟลู้ต Sankyo เงิน ใส่ Headjoint handmade ยี่ห้อไม่รู้จักเลยมาสอบ ทำให้เพิ่งรู้จักฟลู้ต Sankyo คราวแรก ตอนนั้น มีความรู้สึกว่าเราหลังเขามากเลย ไอ้ยี่ห้อ Sankyo เค้าใช้กันทั่วยุโรป เรากลับไม่เคยได้ยินชื่อมันเลย เคยได้ยินแต่ Muramatsu และก็มารู้อีกทีหลังว่า คนทำ Sankyo ก็คืออดีตช่างของ Muramatsu ที่แยกตัวออกมานั่นเอง

กลับมาจากเยอรมัน เจ้า Yamaha-571 ก็ได้รับใช้ผมจนถึงปี 1996 ระหว่างนั้นผมก็ได้ใช้มันแสดงกับ BSO มาตลอด ทั้งเล่นคอนเสิร์ตและอัดเสียงชุด เพลงพระราชนิพนธ์ เพลงชาติ วาระที่สำคัญที่สุดก็น่าจะเป็นตอนที่ได้รับเลือกให้แสดง Flute Concerto in D ของ Mozart กับวง ECCO ( European Community Chamber Orchestra) ตอนนั้นยังไม่รวมเป็น EU เมื่อเดือนธันวาคมปี 1994 ผมซ้อมเพลงนั้นอยู่ 3 เดือนก่อนคอนเสิร์ต และพอวันแสดง เค้าก็อนุญาตให้ผมซ้อมกับวงแค่ครั้งเดียวคือ 5 โมงเย็นวันนั้น ก่อนจะแสดงตอนสองทุ่ม ก็นับเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นประทับใจ วงนี้ไม่มีคอนดักเตอร์ ให้คอนเสิร์ตมาสเตอร์เป็นคนเล่นและนำไปด้วย ผมก็ด้วยความที่ซ้อมมาจนขึ้นใจ ตัดสินใจเล่นโดยไม่มีโน้ต ก็ปรากฎว่ามีการหลุดความจำด้วยความตื่นเต้นเล็กน้อย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดี ท่านสามารถไปดู ภาพบทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ The Nation ได้ ที่นี่ ครับ

มาถึงตอนนี้ก็ขอจบตอนแรกไว้ก่อน เอาไว้ค่อยมาต่อตอนฟลู้ต ตัวต่อไป ถ้าอ่านแล้ว อย่าอ่านเฉยๆ ช่วยแสดงความคิดเห็นหน่อย จะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้นนะครับ

3 comments:

ตุ๊กตา said...

อ่านสนุก และน่าติดตามค่ะ อย่าลืมเขียนตอนต่อไปนะคะ

korat picture said...

ดีครับ จะติดตามต่อไป

อรรณพ

oxide said...

อ่านสนุกมากครับ อาจารย์